เขาว่า ชาวท้องตมมี “มนต์เรียกปลา”

2721

ท้องตมใหญ่ เป็นชุมชนชาวประมงชายฝั่งเล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวท้องตม อ.สวี จ.ชุมพร ซึ่งมีประวัติพบเห็นการอยู่อาศัยมาไม่ต่ำกว่า 400 ปี มีวิถีชีวิตที่พึ่งพาอาศัย เลี้ยงปากท้องกับท้องทะเลมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน

อ่าวท้องตม ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอในจังหวัดชุมพร ทิศเหนือเริ่มจาก “หัวจำเหียง” หรือ “แหลมประจำเหียง” อ.สวี ไปสิ้นสุดด้านทิศใต้ที่ปากแม่น้ำตะโก อ.ทุ่งตะโก โดยมีหมู่บ้านท้องตมใหญ่ เป็นชุมชนก้นอ่าว

ลักษณะทางภูมิประเทศของอ่าวท้องตม ถือได้ว่าเป็นชัยภูมิที่ดีที่สุดในประเทศไทย ปัจจัยสิ่งแวดล้อมมีความนิ่ง และเสถียร  ด้วยลักษณะของอ่าวท้องตม เป็นอ่าวเว้าลึก ไม่มีน้ำจืดและสารเคมีจากแม่น้ำลงมาปนเปื้อนและเจือปนกับน้ำทะเลของอ่าวท้องตม ชุมชนที่อยู่อาศัยรอบๆ อ่าวเป็นชุมชนเล็กๆ และขนาดของอ่าวไม่ใหญ่ สามารถบริหารจัดการการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ได้ด้วยชุมชนเอง

อาชีพหลักของชาวท้องตม คือการทำ “ประมงชายฝั่ง” โดยใช้เรือเล็กๆ ประเภทเรือหางยาว ใช้แรงงานลำละ 1-2 คน เราไม่มีเรือขนาดใหญ่มานานแล้ว แค่เรือหางยาวอกทะเลคืนเดียว ชาวท้องตมก็มีรายได้เฉลี่ย คืนละ 10,000 บาท (บางฤดูกาล) เพียงเท่านี้  “เรือขนาดใหญ่ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป”

ก่อนนี้ ย้อนหลังไป 30-40 ปี ชาวท้องตม ก็มีเรือประมงขนาดใหญ่ มีอวนลาก อวนรุน ที่ถูกเรียกว่า “เรือประมงแบบทำลายล้าง” เหมือนชุมชนชายฝั่งอื่นๆ แต่แล้ววันหนึ่ง ก็ถึงเวลาที่เป็น “จุดเปลี่ยน” ในการทำประมง ในการหาปูหาปลามาเลี้ยงครอบครัว

ชาวประมงทั่วไป เมื่อถึงเวลาที่เขาจะเปลี่ยนแปลง หรือยกระดับตัวเอง แทบทุกที่จะออกมาในลักษณะของการแข่งขันกัน ว่าใครจะมีเรือลำใหญ่กว่ากัน ซึ่งการมีเรือลำใหญ่ๆ นั้น นั่นหมายถึงการลงทุนไม่ใช่น้อย ต้องมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำไม้มาต่อเรือจำนวนมาก การออกเรือก็ต้องใช้ต้นทุนเป็นจำนวนมาก น้ำแข็ง น้ำมัน แรงงานอีกหลายสิบคน และส่วนมากก็ต้องหันไปพึ่งพา “แรงงานต่างด้าว” ด้วยซ้ำ

แล้วทำไมชาวประมงถึงอยากได้เรือลำใหญ่กว่าเดิมกันอีกล่ะ คำตอบคือ “เรือประมงขนาดใหญ่จะบรรทุกความคาดหวังออกไปด้วยได้มากกว่า” นั่นเอง

ชาวประมงมีบทเรียนชีวิตบทหนึ่ง สอนไว้ว่า การมีเรือใหญ่ จะสามารถออกเรือไปได้ไกลกว่าเดิม อยู่ในทะเลได้นานกว่าเดิม นั่นคือ “ความคาดหวังว่าจะได้ปลากลับมามากกว่าเดิม” กลับมาขายได้เงินมากกว่าเดิม ท้องอิ่มกว่าเดิม ครอบครัวจะได้อยู่ดีกินดีขึ้นมากกว่าเดิม

แล้ว “เรือใหญ่ เอาอะไรไปจากชาวประมง” ได้อีก นอกจากความคาดหวัง แน่นอนว่าในเรือใหญ่ เต็มไปด้วยผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นสามี เป็นพ่อ หรือเป็นลูกที่เลี้ยงพ่อแม่ ของคนที่อยู่ที่บ้านอีกจำนวนมาก

เมื่อผู้คนผู้เป็น “หัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว” เหล่านั้น ออกไปพร้อมกับเรือใหญ่ นั่นคือ พวกเขาต้อง “ห่างลูกห่างเมีย ครั้งละหลายๆ วัน” เมียจะมีเรื่องพูดคุยปรึกษาไหม ลูกจะทำการบ้านหรือยังก็ไม่รู้ เพราะเขาไม่ได้อยู่บ้าน

 

ชาวท้องตม มี “จุดเปลี่ยนที่แตกต่าง” อย่างไร

ชาวท้องตมก็เป็นชาวประมง ที่หากินกับท้องทะเลเหมือนชาวประมงที่อื่นๆ มี “ความคาดหวัง” เหมือนคนอื่น แต่เรา “เปลี่ยนวิธีการ และแนวความคิด”  จากความคิดที่ว่า ทำอย่างไรให้มีเรือที่ออกไปได้ไกลที่สุด เพื่อไปถึงแหล่งที่มีปลาแหล่งที่คนอื่นไปไม่ถึงได้มากที่สุด

ชาวท้องตมเราคิดว่า “ทำอย่างไรให้ปลา เข้ามาอยู่ใกล้ๆ บ้านเราให้มากที่สุด” เพื่อเราจะได้จับปลากินได้ โดยไม่ต้องออกไปไหนไกล ไม่ต้องมีเรือใหญ่ ไม่ต้องห่างครอบครัว ลดรายจ่ายได้มากมาย น้ำมันแกลลอนเดียว ใช้ได้ตั้งหลายวัน ตามแนวทาง “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

ทะเล ทำ เศรษฐกิจพอเพียง ได้ด้วยเหรอ

เคยได้ยินแต่ภาคการเกษตร การปลูกพืช ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ เป็นเรื่องของการกสิกรรมแบบมีพื้นดินทั้งนั้นเลย ไม่เคยได้ยิน การทำ “เศรษฐกิจพอเพียงทางทะเล” เลยสักครั้ง

“หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ในหลวงของเรามีพระราชดำรัสแก่ชาวไทย เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ  มีใจความสำคัญว่า

“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นอันพอควร”

เป็นปรัชญาที่ยึดหลักทางสายกลาง ที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียง พึ่งพาตนเองได้ และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต

ชาวท้องตม น้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาปฏิบัติในระดับครัวเรือนและในระดับชุมชน โดยอาศัย “วิถีชีวิต” และ “วัฒนธรรมชุมชน” เป็นแนวทางสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

 

 

 

ชาวท้องตม คืนบ้านสัตว์น้ำให้อ่าวท้องตม

เราชาวท้องตม โดย “การจัดการอ่าวท้องตมและการท่องเที่ยวโดยชุมชนท้องตมใหญ่” ได้ร่วมกันสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนมาสู่อ่าวท้องตม และทะเลใกล้เคียง ให้ กุ้ง หอย ปู ปลา กลับมาชุกชุมดังเดิม

โดยได้จัดทำโครงการ “คืนบ้านสัตว์น้ำให้อ่าวท้องตม” ซึ่งเป็น “แผนงาน 10 ปี” โดยเริ่มกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ปีนี้ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 8 เข้าไปแล้ว

ความน่าสนใจของกิจกรรมที่ชาวท้องตมได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำขึ้น คือแทบทุกงาน เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ชุมชนเริ่มคิด และดำเนินการด้วยตัวชุมชนเอง โดยไม่ได้เฝ้ารอการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรใดๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยอาศัย “วิถีชีวิต” และ “ประสบการณ์” หรือ “ภูมิปัญญา” มาเป็นกำลังในการทำงานแบบพึ่งพาตนเอง โดยมี “เพื่อน” หรือ “เครือข่าย” อยู่เคียงข้าง และร่วมทางกันไป

ภูมิปัญญาชาวบ้านธรรมดาๆ นำมาใช้ได้เหรอ

ทุกๆ กิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของชาวท้องตม ไม่ได้เกิดจากการไปเอาแบบอย่างมาจากที่ไหน ไม่ได้ไปดูงานจากต่างประเทศ ไม่ได้ทำตามตำรา คู่มือทางวิชาการของสถาบันไหน หรือมีผลงานการวิจัยของสำนักใดๆ

แต่เราได้แนวความคิดมาจากบรรพบุรุษของเรา ปู่เรา พ่อเฒ่าเรา ที่ได้รับการสั่งสมประสบการณ์และถ่ายทอดกันมาช้านาน ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มของการที่บรรพชนเรารู้จักที่จะกินปูกินปลา ซึ่งเป็น “ภูมิปัญญาที่ใช้จับสัตว์น้ำ” ที่สืบทอด ส่งต่อ กันมา แล้วนำมาประยุกต์ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการของเรา จะเรียกว่าเป็น “นวัตกรรม” ก็พอจะพูดได้

บ้านสัตว์น้ำของชาวท้องตมนั้นมีหลายอย่าง แต่ที่ยกมาเล่าให้ฟังกันอยู่บ่อยๆ นั้น มี 4 บ้าน

  • บ้านปลา
  • บ้านลูกปู
  • บ้านหมึก
  • บ้านม้าน้ำ

บ้านปลา

“ซั้ง” หรือ “บ้านปลา” คือ  ปะการังเทียมแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ประยุกต์มาจากภูมิปัญญาชายฝั่ง

สมัยก่อน ในช่วงสมัยที่ใกล้ๆ บ้านเรา มีกุ้ง ห้อย ปู ปลา ให้หากินได้อย่างง่ายดาย ใกล้ๆ บ้าน ไม่ต้องดิ้นรนออกไปไหนไกลก็มีปลากิน ถ้าอยากกินปลาตัวใหญ่ๆ เช่นปลาอินทรีย์ ปลาสาก ปลาโทงแทง เราก็ต้องออกไปหาแหล่งตกปลาที่ไกลๆ ออกไป กองหินรอบๆ เกาะบ้าง ตาม “หินกอง” บ้าง นั่นคือ “แหล่งอาศัย แหล่งหากินของปลาตามธรรมชาติ

ทีนี้ ชาวบ้าน ชาวประมงไปเกี่ยวอะไรด้วย เพราะปลามันก็มีอยู่แล้ว ที่อยู่ที่หากินของปลา ก็มีอยู่แล้ว ถ้าความต้องการของคนเรา มันพออยู่แค่นั้นก็ไม่เกี่ยว แต่ในสภาพความเป็นจริง เราต้องการมากกว่านั้น เช่น บางวัน อากาศดีๆ ลมฟ้าเป็นใจ ออกไปตกปลาที่หินกอง พอไปถึง ยังกับตลาดนัดกลางทะเล ทั้งเรือจากหมู่บ้านเรา หมู่บ้านใกล้เคียง เรือที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ลอยตกปลากันอยู่เต็มไปหมดแล้ว ไม่มีที่จอดเรือแล้ว จอดได้ก็ห่างจากแหล่งมากเกินไป หรือมันวุ่นวาย เอิกเกริกเกินไป

ชาวบ้านกลุ่มนั้น ซึ่งก็คือบรรพบุรุษของพวกเราเอง ก็ได้สร้าง “แหล่ง” ขึ้นมาเอง ให้มีปลามาอยู่ มาตอม มาล่า ในบริเวณที่ได้สร้างไว้เอง เป็นแหล่งส่วนตัว จำได้เองว่าอยู่ตรงไหน ไม่มีใครมาแย่ง เป็นการสร้าง “หลักประกัน” ว่าออกมาตกปลาแต่ละครั้ง จะได้ปลากลับบ้านไปแน่ๆ เราเรียกแหล่งนั้นว่า “ซั้ง”

ซั้งที่ว่านั้น เป็นซั้งน้ำลึก ที่อยู่นอกชายฝั่งไกลๆ ออกไป ทำด้วยไม้ไผ่หลายสิบลำ นำมามัดรวมเป็นมัดใหญ่ แล้วไปทิ้งไว้ยังจุดที่ต้องการ ใช้หินถ่วงด้านล่างไว้ไม่ให้เคลื่อนที่ไปไหน ผูกมัดซั้งนั้นไว้ให้ต่ำกว่าผิวน้ำ ปลาเล็กปลาน้อยก็มาอยู่ มาใหญ่ก็มาล่าปลาเล็ก เกิดเป็นระบบนิเวศใหม่กลางทะเลขึ้นมา และมีปลาให้เรามาจับไปกิน

มาถึงบ้านปลาของเรา แค่นำ “ภูมิปัญญา” นั้นมาใช้ทำบ้านปลา เพียงประยุกต์เพียงเล็กน้อยให้เข้ากับลักษณะพื้นที่ในอ่าว น้ำตื้นกว่าเดิม

รูปแบบบ้านปลาของท้องตม ทำด้วยวัสดุธรรมชาติ วัสดุหลักเป็นไม้ไผ่และทางมะพร้าว เป็นรูปทรงกรวยคว่ำ แบบกระโจมของอินเดียนแดง ใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างแล้วมุงร่มเงาด้วยทางมะพร้าว ห่างบ้านเรือนเพียงแค่ 200-300 เมตร

บ้านปลา 1 ชุด ก็เปรียบเหมือนบ้าน 1 หลัง ลองนึกถึงตัวเราเอง เดินมากลางทุ่งนา ตากแดดมานาน ร้อนก็ร้อน แล้วมาเจอกระท่อมหลังหนึ่ง มีร่มเงา ลมพัดเย็นสบาย เราอยากเข้าไปนั่งพักไหม  ปลาก็คงเช่นเดียวกัน อยู่แต่ในทะเลที่เวิ้งว้าง ไม่มีร่มเงาเลย แล้วอยู่ๆ มีบ้าน มีร่มเงาอยู่กลางทะเล ก็อยากเข้าไปพักหลบอาศัย

เมื่อเราทำบ้านปลาเสร็จ ลูกปลาเล็กๆ จะเริ่มเข้าไปอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมง ในอ่าวท้องตม เราทำบ้านปลาอย่างต่อเนื่อง ในระยะห่างที่เหมาะสม ไม่น้อยกว่า 200-300 หลัง กลายเป็นชุมชนปลาขนาดใหญ่ มีปลาเล็กปลาน้อย ปลาผิวน้ำ ปลากลางน้ำ ปลาหน้าดิน แม้แต่ปลาสวยงาม อย่างปลาหูช้าง ปลาโนรี ปลากบ ปลาจิ้มฟันจระเข้ ฯลฯ

ขอบเขตของบ้านปลา

เมื่อเราได้สร้างบ้านให้ปลา ให้เป็นที่อยู่อาศัยของ กุ้ง หอย ปู ปลา ในธรรมชาติ ชาวท้องตมจึงได้กำหนดแนวเขตอนุรักษ์ ห้ามทำการประมงทุกชนิด ทุกฤดูกาล เพื่อสงวนไว้เป็นพื้นที่วางไข่ และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ให้เจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยมาเป็นอาหารและเป็นรายได้ของชาวท้องตม มีการทำงานเพื่อให้อ่าวท้องตมมีความอุดมสมบูรณ์

เริ่มจากใช้ไม้ไผ่ขนาดยาวๆ ผูกด้วยผ้าจีวรพระ ปักหลักไม้ไผ่แบบนี้ เป็นรั้วรอบๆ พื้นที่บ้านปลา ให้เห็นเป็นแนวเด่นชัด กั้นไม่ให้เรือชาวบ้าน ทั้งเรือในอ่าวท้องตมเอง และเรือต่างถิ่น เข้ามาจับปลาในพื้นที่ที่เราสงวนไว้ และใช้บังคับกับชาวประมงทุกๆ คน ไม่ใช่ว่า ห้ามเพื่อน แต่คนบ้านตัวเองเข้าไปจับได้  เราเริ่มจากห้ามคนในหมู่บ้านท้องตมของเราก่อน แล้วจึงหันไปบอกกล่าวให้คนนอกหมู่บ้าน ทำเหมือนที่เราทำ

รั้วอยู่ในใจ

ทุกวันนี้ บ้านปลาที่อ่าวท้องตม ไม่มีรั้วสูงๆ ไม่มีผ้าจีวรพระ ไม่ต้องให้เห็นชัดแต่ไกลอีกแล้ว มีพียงแค่ทุ่นลอย บอกขอบเขต 4 มุม ของพื้นที่บ้านปลาเท่านั้น เพราะเราย้ายรั้ว จากหลักเขตไม้ไผ่ ไปเป็น “รั้วในใจ” ของทุกๆ คนเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ถึงไม่มีแนวรั้ว ก็ไม่มีใครเข้าไปจับปลา ไปทำประมงในบริเวณนั้นมาหลายปีแล้ว ได้กลายเป็นพื้นที่สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของ กุ้ง หอย ปู ปลา ในธรรมชาติ โดยสมบูรณ์ เพื่อสงวนไว้เป็นพื้นที่วางไข่ และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ให้เจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย แพร่ขยายพันธุ์ เคลื่อนย้ายเข้าออกตามวงจรชีวิต และกลับมาเป็นอาหารและเป็นรายได้ของชาวบ้าน อ่าวท้องตม อ่าว สวี-บ่อคา และทะเลที่ต่อเนื่องเชื่อมถึงกันตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทย

 

 

บวชทะเลท้องตมใหญ่ หนึ่งเดียวในเมืองไทย

ชาวท้องตม ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างทรัพย์สมบัติมหาศาลไว้หน้าบ้าน เมื่อมีสมบัติก็ต้องรักษา เพื่อไม้ให้สมบัตินั้นหมดหายไป เพื่อให้มีกินกันถึงลูกหลาน เราได้กำหนดกติกาให้พื้นที่บ้านปลาของเราเป็นเขตอนุรักษ์ ห้ามทำการประมงทุกชนิด และ ทุกฤดูกาล

ในบ้านปลา มีปลาจริงไหม

ปีแรกๆ ที่ชาวท้องตมทำบ้านปลา เห็นได้ชัดว่ามีฝูงปลาแหวกว่ายให้เห็นบนผิวน้ำอยู่บ่อยๆ จนมีชาวบ้านบางคน อยากรู้ ว่าในบ้านปลาที่หวงแหนกันนั้น มีปลาอยู่จริงไหม ถึงได้ร้องขอในที่ประชุมหมู่บ้าน ขออนุญาตลองทำการประมงในเขตบ้านปลา ผู้ใหญ่บ้านจึงขอมติในที่ประชุม ผลการยกมือของชาวบ้าน ก็อนุญาตให้ลองทำประมงได้ โดยกำหนดเวลา ตั้งแต่ 18.00 ของวันที่ลงมติ

ชั่วโมงเดียว ได้ปลานับ 1,000 กิโลกรัม

วันที่มีการอนุญาตให้ลองวางอวนนั้น มีเรือออกไปวางอวน 2 ลำ เป็นเรือหางยาวลำเล็กๆ แรงงานคนเดียวทั้ง 2 ลำ ออกไปวางอวนปลาในเขตบ้านปลา ซึ่งอยู่ห่างชุมชนแค่ 200-300 เมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก็กลับมาถึงบ้าน ได้ปลามาร่วมๆ 1,000 กิโลกรัม

มีสมบัติมาก ก็ล่อใจโจร

หลังจากข่าวแพร่กระจายไป ว่าในอ่าวท้องตมมีปลามาก จากการที่ชาวท้องตมได้ทำบ้านปลาไว้ เริ่มมีเรือจากที่อื่นๆ มาลักลอบวางปลาในพื้นที่ที่เราประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ เวลามุ้งมิ้ง (ยามเย็นใกล้พลบค่ำ) นั่งกินข้าวไป ก็ต้องคอยชะเง้อดูว่าจะมีใครมาแอบวางอวนในเขตบ้านปลาหรือเปล่า แม้บางลำ จะวิ่งเรือ ไปกลับ นับ 100 กิโลเมตร แต่เขาก็ยังมา เพราะถ้าได้ปลา นั่นคือจะได้เงินหมื่นกลับไป

กำเนิด “ชุดตรวจการณ์ประมงหมู่บ้าน”

เมื่อมีชาวประมงต่างพื้นที่ เข้าลักลอบวางอวนมากขึ้น ชาวท้องตมจึงได้จัดตั้ง “ชุดตรวจการณ์ประมงหมู่บ้านอ่าวท้องตม” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่คอยตรวจตรา การทำประมงที่ผิด กติกาชุมชน ผิดกฎหมาย หรือทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ เมื่อพบเห็นการทำผิด ก็จะออกไป บอกกล่าว ตักเตือน จนถึงขั้นจับกุม นำเรือเข้าฝั่ง ยึดปลาที่ได้ บันทึกการจับกุมไว้ แล้วปล่อยกลับ

ใช้หลักศาสนา มาเป็นกุศโลบาย

ถึงจะหวงแหน แต่เราก็ไม่อยากที่จะต้องมานั่งเฝ้า เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ จนไม่ได้ใช้เวลาส่วนตัวตามปกติ จึงต้องมาทบทวนกันอีกครั้ง ด้วยความที่ทั้งหมู่บ้าน เป็นชุมชนที่นับถือศาสนาพุทธ 100%  จึงได้ไปปรึกษากับหลวงพ่อ ชวนกัน “บวชทะเล”

เรามีบ้านปลาอยู่แล้ว มีขอบเขตที่ชัดเจน ขาดแต่การรับรู้ของคนนอกหมู่บ้าน ชาวประมงใกล้เคียง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และองค์กรเอกชนอื่นๆ จึงใช้การ “บวชทะเล” เป็นการบอกกล่าวให้เป็นที่รู้กัน ว่า ที่อ่าวท้องตม ชาวบ้านเขาทำอะไรกัน เขาดูแลทะเลที่เปรียบเสมือน “หม้อข้าวใบใหญ่” ของเขาไว้ได้อย่างไร มีกติกาการดูแลกันอย่างไร และประกาศให้รับรู้โดยทั่วกัน

ก่อนจะถึงวันบวชทะเล ชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างบ้านปลาให้เต็มพื้นที่ แต่ละปี จะมีพี่น้องเครือข่ายอนุรักษ์ เครือข่ายจากภูผาสู่มหานที เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน มาช่วยกันทำ ระยะหลัง เริ่มมีนักท่องเที่ยว อาสามาช่วยชาวท้องตมทำบ้านปลาด้วย  เกิดเป็น “กิจกรรมทำประโยชน์ให้สิ่งแวดล้อมและชุมชน” ที่นักท่องเที่ยวจำนวนมาก ตั้งใจว่า ต้องมาทำให้ได้ “ครั้งหนึ่งในชีวิต”

“ทะเล บวชอย่างไร”

อย่างที่ทราบกัน เราต้องการบอกกล่าวให้รู้ในสิ่งที่เราทำ รู้กฎ กติกาของชุมชน และใช้พิธีกรรมทางศาสนามาเป็นสัญลักษณ์ทางจิตใจ เราไม่ได้บวชปลาตัวใดตัวหนึ่ง หรือบวชให้ไม้ไผ่ลำไหนๆ แต่เราทำพิธีเพื่อเป็น “สัญญาใจ” ว่า ต่อไปนี้ ทุกคนรับรู้โดยทั่วกันแล้ว ยอมรับกัน สัญญากัน ว่าจะร่วมกันดูแลพื้นที่ทะเลแห่งนี้ งดเว้นการจับสัตว์น้ำในเขตนี้ นี่แหละคือ “บวชทะเล”

แน่นอนว่าการบวชทะเล ต้องมีพระสงฆ์ พระสงฆ์ต้องมาสวด เจริญพุทธมนต์ มาให้พรกับสรรพสัตว์ในท้องทะเล มีพระสงฆ์ห่มผ้าจีวรที่โครงสร้างบ้านปลา เป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่าได้ทำการบวชแล้วนะ ห่มจรแล้วนะ

ในส่วนของชาวบ้าน และผู้มาร่วมบวชทะเล เมื่อเสร็จพิธีทางสงฆ์ ได้รับรู้ที่มาที่ไป และเข้าใจการบวชทะเลดีแล้ว ก็ร่วมกันลงทะเล นั่งเรือไปดูบ้านปลาแบบใกล้ชิด บ่อยครั้งที่ฝูงปลากระโดดขึ้นเรือ ต้องรีบจับโยนลงน้ำด้วยความสนุกสนานและตื่นเต้น ร่วมกันปล่อยพันธ์สัตว์น้ำในเขตบ้านปลา และบริเวณใกล้เคียง เช่น กุ้งแชร์บ๊วย ปลากะพง ปูดำ หอยมือเสือ ฯลฯ

ที่สำคัญที่สุด คือการได้มีส่วนร่วม ได้เข้าแสดงตนและมารับรู้ ของภาคีเครือข่ายที่มีอยู่มากมาย ทั้งเครือข่ายชุมชนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์เหมือนๆ กัน  เครือข่ายภาครัฐ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด จนถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน องค์กรเอกชนที่อาจจะให้การสนับในอนาคต ตลอดจน เครือข่ายด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน เครือข่ายการกีฬา รวมทั้ง มัคคุเทศก์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โดยในส่วนของชุมชน เราใช้ “ปืนเถื่อน” ปฏิบัติกันอยู่แล้ว

ปืนเถื่อน คือ กติกาชุมชน ระเบียบกลุ่มอนุรักษ์ ที่เราประกาศใช้กันเอง บังคับคนที่เคารพ

กติกาชุมชน ระเบียบของกลุ่ม เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรทชาติ

แต่ไม่ได้รับการรับรองจากผู้ออกกฎหมาย และไม่ได้รับการยอมรับกับผู้ที่เสีผลประโยชน์

LEAVE A REPLY